บริษัทในเอเชียมีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่รุนแรงเพียงใด?

ไฟป่า อุทกภัย ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพายุใต้ฝุ่นถือเป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องพบเจอมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภูมิภาคนี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทในเอเชียเหล่านี้พร้อมรับมือกับมรสุมที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดีเพียงใด?

[Thai] heatwave agri impact
สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น ภัยแล้ง กำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งได้รายงานการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาพ: M. Lloyd/ CGIAR

ไฟป่า คลื่นความร้อน อุทกภัยและภัยแล้งที่รุนแรง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตลอดจนพายุใต้ฝุ่น เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสภาพอากาศรุนแรงบางส่วนที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญในปีนี้ เนื่องจากการปล่อยของเสียและอุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการคาดการณ์ว่าสภาพอากาศที่รุนแรงเหล่านี้จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมเพื่อเอาตัวรอดจากโลกที่ร้อนขึ้น

เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรสได้ย้ำเตือนว่า การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่ผ่านมา และรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของเดือนสิงหาคมเป็น “สัญญาณเตือนภัยระดับสีแดงที่รุนแรงอย่างยิ่งสำหรับมนุษยชาติ” และทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการกล่าวถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวาระการประชุมขององค์กรต่าง ๆ

“การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน” Michael Salvatico หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจด้าน ESG [สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี] ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่บริษัท S&P Global Sustainable1 กล่าว “เราจำเป็นต้อง ลดคาร์บอนออกจากเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ 2015”

จากข้อมูลการวิเคราะห์โดย S&P Global Sustainbale1 ทรัพย์สินขององค์กรที่สำคัญทั่วโลก ซึ่งรวมถึงโรงงาน เครือข่ายการขนส่ง ตลอดจนสายส่งไฟฟ้า ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ

เราจำเป็นต้องลดคาร์บอนออกจากเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว จุในปี 2015ผมเริ่มต้นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในความคิดของผมกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

Michael Salvatico หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจด้าน ESG ในเอเชียแปซิฟิกที่บริษัท S&P Global Sustainable1

ข้อมูลของ S&P Global Trucost ยังเปิดเผยอีกว่า หากเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรม สินทรัพย์ทางกายภาพที่เป็นของอุตสาหกรรมด้านสาธารณูปโภค วัสดุ พลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค และการดูแลสุขภาพ ถือเป็นสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศระหว่างปัจจุบันถึงปี 2050

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานดังกล่าวยังพบว่า หากปล่อยปัญหานี้ไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข การขาดแคลนน้ำจะเป็นภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับทุกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก็ยังคงไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากนัก การวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ให้เห็นอีกว่า ทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

สภาพอากาศที่รุนแรงอย่างสุดขั้วเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชีย อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ชั่วโมงการทำงานในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานลดลง เช่น เกษตรกรรม การก่อสร้าง และการทำเหมืองแร่ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและอุทกภัยที่รุนแรงจะ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างหนัก

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น น้ำ มลภาวะ ความร้อนจัด และความเสี่ยงโดยทั่วไปต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า 99 เมืองจาก 100 เมืองที่เสี่ยงที่สุดในโลกอยู่ในทวีปเอเชีย โดยอันดับต้น ๆ ของเมืองที่กำลังจะ จมน้ก็คือ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย

รายงานของสถาบัน McKinskey Global ที่มีชื่อว่า ความเสี่ยงและการตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศในทวีปเอเชีย เตือนว่าทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานอาจถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ จากภัยอันตรายที่เกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2050 อุทกภัยในรอบ 100 ปีที่เกิดในกรุงโตเกียวมีโอกาสสร้างความเสียหายโดยตรงต่ออสังหาริมทรัพย์สูงถึง 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพื่อเตรียมการรับมือ ทาง Tokyo Metro ได้เริ่มดำเนินการป้องกันน้ำเอ่อท่วมและลดความเสียหายโดยการตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้มาจากอวกาศ อีกทั้งยังมีมาตรการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารอีกด้วย รัฐบาลมาเลเซียยังได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อรับมือกับอุทกภัยโดยการเพิ่มความจุร่องน้ำในแม่น้ำ สร้างอุโมงค์ทางหลวง และสร้างท่อส่งน้ำไปยังแหล่งกักเก็บน้ำ

เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเพิ่มขึ้น การบรรเทาความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและการปรับรูปแบบธุรกิจจึงมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับบริษัท นักลงทุน และรัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

Sydney Gliserman รองผู้อำนวยการ Control Risks สังเกตเห็น “มุมมองที่เปลี่ยนไป” เมื่อเธอได้พูดคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม เธอตั้งข้อสังเกตว่าความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศยังคงถูกมองข้ามต่อไป

“คุณไม่สามารถพูดถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่นำไปเชื่อมโยงกับความเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งหมดที่นับวันองค์กรต้องเผชิญมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางสังคม ตลอดจนวิธีที่คุณร่วมมือกับชุมชน ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอาจกลายเป็นการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วซึ่งสามารถก่อให้เกิดความไม่สงบในชุมชนได้ในทันที จนอาจกลายเป็นปัญหาหรือวิกฤตด้านความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน”

Salvatico กล่าวเสริมว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการตระหนักถึงความเสี่ยงทางกายภาพที่เกิดขึ้นนั้นมีความสำคัญต่อบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เขาชี้ให้เห็นว่าสมาชิกในกลุ่มนักลงทุนเอเชียว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Asia Investor Group on Climate Change) ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นการริเริ่มเพื่อสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการดำเนินการในหมู่เจ้าของทรัพย์สินในทวีปเอเชีย

นอกจากนี้ บริษัทเกือบ 1,000 แห่งในเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) ซึ่งได้พัฒนาแนวทางเพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ เปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโอกาสเสี่ยงทางกายภาพและการปล่อยคาร์บอน

“นักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุน” Salvatico ตั้งข้อสังเกต “นี่ไม่ใช่มุมมองจากบริษัทเพียงบริษัทเดียว แต่ผู้ดูแลด้านเงินทุนของบริษัทต่าง ๆ ก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากความเสี่ยงทางกายภาพมากขึ้นเช่นกัน”

การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากนานาประเทศได้ให้คำมั่นที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นไว้ที่ 1.5°C และทำข้อตกลงกับภาคการเงินให้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และองค์กรต่างๆ ล้วนมีบทบาทอย่างมาก

“ความจริงก็คือ บริษัทต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำจัดคาร์บอนออกจากเศรษฐกิจโลก” Rick Lord หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมเชิง ระเบียบวิธีวิจัย นวัตกรรมและการวิเคราะห์ด้าน ESG กล่าว “นักลงทุนคาดหวังมากขึ้นว่าบริษัทต่าง ๆ มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงทางกายภาพที่พวกเขาต้องเผชิญ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงแผนการทำงานที่น่าเชื่อถือเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจของพวกเขาจะมีความยืดหยุ่นในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง”

แรงกระตุ้นเพิ่มเติมที่เป็นสิ่งจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ ลดการปล่อยคาร์บอนคือการนำภาษีคาร์บอนมาใช้ โดยมาตรการนี้จะถูกนำไปใช้กับบริษัทที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนได้ การประเมินความเสี่ยงด้านสภาพอากาศในปัจจุบันกำลังเริ่มที่จะนำตัวชี้วัดความเสี่ยงด้านราคาคาร์บอนมาใช้ในการกำหนดโอกาสเสี่ยงของบริษัทหากพวกเขาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนภายในปี 2030

“เราเริ่มได้ข่าวมาบ้างว่าราคาคาร์บอนอาจนำไปใช้กับการนำเข้าผ่านภาษีนำเข้าคาร์บอน” Salvatico กล่าว “สิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ จึงได้รับแรงกดดันจากหลายทางให้ จัดการกับการปล่อยคาร์บอนอย่างรวดเร็ว แรงกดดันเหล่านี้มาจากผู้มีอำนาจในการดำกับดูแล ดำเนินการผ่านและอาจมาจากแหล่งที่พวกเขาวางขายสินค้า”

บริษัทที่ดำเนินการประเมินเพื่อลดความเสี่ยงด้าน ESG พร้อมกับการดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนอาจได้รับรางวัลตอบแทน Salvatico กล่าว การวัดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบความสอดคล้องกับความตกลงปารีส ตามขั้นตอนหกขั้นสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของ S&P Global ข้อมูลของ S&P Global บ่งชี้ว่า ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถลดภาวะโลกร้อนได้ 3ºC ซึ่งยังต่ำกว่าปริมาณการลดการปล่อยมลพิษที่คาดไว้ 72% เพื่อหยุดภาวะโลกร้อนไม่ให้เกิน 1.5°C

บริษัทที่ปฏิบัติตามความตกลงปารีส “มีศักยภาพในการลงทุนที่ดีขึ้นและสามารถเป็นบริษัทที่ดีขึ้นสำหรับพนักงาน ผู้บริโภค และชุมชน” Salvatico กล่าว “พวกเขาสามารถเข้าถึงตลาดและเงินทุนได้ดีขึ้น ตลอดจนมีผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้น บริษัทที่เริ่มลงมือทำทันทีจะได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ที่ ปรับตัวก่อน”

Did you find this article useful? Join the EB Circle!

Your support helps keep our journalism independent and our content free for everyone to read. Join our community here.

Most popular

Featured Events

Publish your event
leaf background pattern

Transforming Innovation for Sustainability Join the Ecosystem →