เกือบจะเป็นเน็ตซีโร่: เป้าหมายในการลดคาร์บอนขององค์กรนั้นมีความเป็นจริงได้แค่ไหน

ในขณะที่มีบริษัทเพิ่มมากขึ้นที่ได้ปฏิญาณว่าจะลดรอยเท้าคาร์บอนของพวกเขา ได้เกิดคำถามขึ้นว่าพวกเขาจะทำมันได้อย่างไรและเมื่อใด ความแตกต่างระหว่างเป้าหมายในการทำเน็ตซีโร่ที่ได้ผลและการกระทำอย่างฉาบฉวยนั้นคืออะไร

[Thai] Petronas on facebook
ปิโตรนาสคือหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในเอเชียแปซิฟิกที่ตั้งเป้าหมายในการทำเน็ตซีโร่ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 ภาพ: ปิโตรนาสบน Facebook

Sunny Verghese ประธานฝ่ายบริหารของ Olam ซึ่งเป็นองค์กรด้านการเกษตรที่มีมูลค่าถึง 24 พันล้านดอลลาร์ เขาเป็นบุคคลที่ได้รับความชื่นชมมากที่สุดในเอเชียในฐานะที่เป็นผู้กระตุ้นด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งทำให้คำสารภาพของเขา ณ สัมนาแห่งหนึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมาน่าเป็นกังวลมากยิ่งขึ้น เขากล่าวว่า เขาได้สนทนากับผู้บริหารกว่า 250 คน จากบริษัทที่ตั้งเป้าหมายเน็ตซีโร่ไว้ และไม่มีใครในกลุ่มนั้นที่มีแนวทางในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเลย ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

บริษัทหลายแห่งต่างให้คำปฏิญาณในการจัดการกับการปล่อยคาร์บอนในปี 2018 เมื่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวว่าในการจำกัดโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5° เซลเซียสและหลีกเลี่ยงผลกระทบอันรุนแรงที่สุดของสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงนั้น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ 

อย่างไรก็ตาม โลกแห่งธุรกิจยังขาดแนวทางในการทำเน็ตซีโร่ Verghese กล่าว และเขาก็บ่นว่าในขณะนี้ยังไม่มีวิธีให้บริษัทต่างๆ วัดรอยเท้าคาร์บอนอย่างเชื่อถือได้ เหล่าผู้บริหารต่างยังขาดความมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถลดคาร์บอนได้ภายในเวลาที่พวกเขากำหนดได้     

แต่กระนั้นความไม่แน่นอนดังกล่าวไม่ได้ทำให้บริษัทต่างๆ หยุดการตั้งเป้าหมายที่อาจเป็นไปไม่ได้ หนึ่งในห้าของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้แสดงความจำนงในการทำเน็ตซีโร่ และ 40 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ในโลกนั้นได้อยู่ภายใต้เป้าหมายการทำเน็ตซีโร่ภายในปี 2050 ในขณะนี้ 

บริษัทหลายๆ แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการปล่อยคาร์บอนมากกว่าครึ่งของโลก ยังไม่มีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกับการทำเน็ตซีโร่มากนัก มีเพียงไม่กี่บริษัทใน เอเชียแปซิฟิก เช่นบริษัท City Developments Limited ของสิงคโปร์ ธนาคาร DBS และปิโตรนาส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันในมาเลเซียที่ได้ประกาศการทำเน็ตซีโร่ และจากการศึกษาของ ENGIE Impact ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานและความยั่งยืน 60 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทต่างๆ ใน เอเชียแปซิฟิก ไม่มีเป้าหมายในการลดคาร์บอนเลย

สิ่งที่เรายังไม่มีในขณะนี้ก็คือคำจำกัดความทางวิทยาศาสตร์ว่าพอร์ตโฟลิโอเน็ตซีโร่คืออะไร และขั้นตอนการทำเน็ตซีโร่มีอะไรบ้าง

Steve Bullock กรรมการผู้จัดการและประธานฝ่ายนวัตกรรมและและการแก้ปัญหาด้าน ESG ของ S&P Global

แม้ว่าการกำหนดเป้าหมายเน็ตซีโร่นั้นเป็นการสร้างข่าวที่ดูดี แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความสงสัยมากขึ้นว่าเป้าหมายนั้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน นักลงทุนได้เริ่มถามคำถามว่าบริษัทจะรายงานการปล่อยคาร์บอนอย่างไร รัฐบาลต่างๆ ก็ได้รับแรงกดดันมากขึ้นในการทำให้แน่ใจว่าองค์กรเหล่านั้นได้ทำตามสิ่งที่กล่าวไว้อย่างแท้จริง Michael Salvatico หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาธุรกิจ ESG ในเอเชียแปซิฟิกของ S&P Global Sustainable1 ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล และ ผู้ร่วม การศึกษาวิจัยสำหรับ  Investor Group on Climate Change  in Australia  ได้ระบุว่าบริษัท 32 แห่งได้ใช้สถานการณ์ต่างๆ ถึง 35 รูปแบบในการรายงานด้านภูมิอากาศของพวกเขา

“ในขณะนี้มีบริษัทหลายแห่งที่ได้ประกาศเป้าหมายในด้านนี้ ในขณะที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน [ของข้อมูล]” Salvatico กล่าว “เราจำเป็นต้องกลับไปทบทวนการคำนวณปริมาณคาร์บอน” รอยเท้าคาร์บอนไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่บริษัทรายงานอีกต่อไป แต่มันคือจุดเริ่มต้นของแนวทางการทำเน็ตซีโร่ของบริษัท นักลงทุนและธนาคารต่างกำลังมองหาเป้าหมายที่น่าเชื่อถือ และพวกเขาจำเป็นต้องเห็นความสอดคล้องในวิธีการรายงานคาร์บอนของบริษัทต่างๆ”

เป้าหมายเน็ตซีโร่ที่แท้จริงเป็นอย่างไร

รายงานฉบับหนึ่งในปี 2020 โดย KPMG เกี่ยวกับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่งพบว่าคุณภาพของการเปิดเผยถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ มีเพียงหนึ่งในห้าบริษัทเท่านั้นที่ใช้การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านความเสี่ยงเชิงภูมิอากาศตามแนวทางที่แนะนำของคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) ซึ่งเป็นแนวทางในการรายงานความเสี่ยงด้านภูมิอากาศสำหรับบริษัท 

ประเด็นแรกในการพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของเป้าหมายเน็ตซีโร่ก็คือการดูว่าเป็นเป้าหมายที่มาจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ ซึ่งหมายความว่ามันจะต้องสอดคล้องกับความตกลงปารีสที่มีการลงนามในปี 2015 เพื่อลดโลกร้อน 1.5 องศา กรรมการผู้จัดการและ ประธานฝ่ายนวัตกรรมและและการแก้ปัญหาด้าน ESG ของ S&P Global จากลอนดอน Steve Bullock กล่าว  

ในเดือนกันยายน บริษัท 1,841 แห่งได้ลงนามเข้าร่วมโครงการริเริ่มเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (SBTi) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 สำหรับบริษัทในการกำหนดแนวทางการลดคาร์บอนให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส มีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นบริษัทจากเอเชียแปซิฟิก ตามข้อมูลจากผู้ร่วมก่อตั้ง SBTi CDP องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร

แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีงานที่ต้องทำเพื่อทำให้แน่ใจว่าเป้าหมายที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์นั้นมีความถูกต้องในด้านภาระกิจในการทำเน็ตซีโร่ ขณะนี้ SBTi กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐานสำหรับเป้าหมายการทำเน็ตซีโร่ และกำลังพัฒนาแนวทางในการกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับความตกลงปารีส 

“ความตกลงปารีสแสดงให้เห็นถึงระดับความมุ่งมันของบริษัท” Bullock กล่าว “สิ่งที่เรายังไม่มีในขณะนี้ก็คือคำจำกัดความทางวิทยาศาสตร์ว่าพอร์ตโฟลิโอเน็ตซีโร่คืออะไร และขั้นตอนการทำเน็ตซีโร่มีอะไรบ้าง การตั้งเป้าหมายเน็ตซีโร่ในปี 2050 นั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การลดคาร์บอนจำเป็นต้องเริ่มต้นในวันนี้

จุดเริ่มต้นนั้นไม่เพียงแต่จะหมายถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับรอยเท้าคาร์บอนจากการดำเนินงานของบริษัทเท่านั้น แต่หมายถึงการปล่อยคาร์บอนของทั้งพอร์ตโฟลิโอและห่วงโซ่อุปทานด้วย ซึ่งรู้จักในนามของ  Scope 3 “คุณต้องมีภาพทั้งหมดของบรรทัดฐานของคุณ” Bullock กล่าว

วิธีที่สองในการระบุว่าบริษัทมีความจริงใจแค่ไหนในการทำเน็ตซีโร่ก็คือการดูว่าพวกเขาติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพวกเขาแค่ไหน S&P มองว่าบริษัทมีแนวทางที่สอดคล้องกับโลกร้อน 1.5 องศาแค่ไหน โดยพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับการควบคุมคาร์บอนของบริษัทในไม่กี่ปี่ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงภายในปี 2030 ซึ่งเป็นเส้นตายของความตกลงปารีสที่กำหนดว่าการปล่อยคาร์บอนจะต้องลดลงกึ่งหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากสภาพอากาศ

เราไม่สามารถทำเน็ตซีโร่ภายในปี 2050 โดยการลดการปล่อยคาร์บอนเท่านั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องออกแบบวิธีการที่พวกเขาดำเนินงานใหม่ในเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

Dave Chen ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของ Equilibrium Capital

วิธีที่สามก็คือการตรวจสอบการชดเชยคาร์บอน หากบริษัทได้ซื้อการชดเชยคาร์บอน เช่นการทำโครงการฟาร์มกังหันลมและแผนการปลูกต้นไม้เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจุดอื่นๆ แต่นี่ไม่ได้เป็นการกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเน็ตซีโร่อย่างแท้จริง

ประเภทของการชดเชยนั้นเป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน การชดเชยคาร์บอนที่ดีนั้นควร “เป็นการทำงานเพิ่มเติมจากการทำงานตามปกติ” ซึ่งหมายความว่าการซื้อการชดเชยจะเป็นการกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะลดลงอยู่แล้ว และควรทำการวัดอย่างถูกต้องเช่นกัน โดยการไม่ใช้เกณฑ์ที่อ้างอิงโมเดลจากคอมพิวเตอร์ แต่วัดจากการลดก๊าซเรือนกระจกที่พิสูจน์ได้จริง

“การชดเชยนั้นมีบทบาท คุณภาพเพียงพอ” Bullock กล่าว “เราจำเป็นต้องมีข้อมูลและความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของโครงการชดเชยคาร์บอนประเภทต่างๆ โครงการนั้นให้ประโยชน์ในการลดคาร์บอนอย่างไรและเมื่อใด”

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องพิจารณาก็คือ บริษัทเน้นไปที่อนาคตมากแค่ไหน พวกเขามีความเสี่ยงทางกายภาพแค่ไหน เช่นระดับน้ำทะเลที่สูงและภัยพิบัติจากสภาพอากาศรุนแรง ระดับของการเปิดเผยการวัดและการจัดการความเสี่ยงทางกายภาพนั้นเป็นตัวชี้บอกที่ดีอีกประการหนึ่งที่จะระบุว่าบริษัทได้เดินทางสู่เน็ตซีโร่มากแค่ไหนแล้ว Bullock กล่าว

นักลงทุนมองหาอะไรในเป้าหมายเน็ตซีโร่

นักลงทุนเริ่มถามคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับเป้าหมายเน็ตซีโร่ขององค์กรต่างๆ ในเดือนตุลาคม กลุ่มนักลงทุนภาคสถาบันจากลอนดอนด้านภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (IIGCC) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่บริหารสินทรัพย์กว่า 60 แสนล้านดอลลาร์ได้เรียกร้องให้บริษัทด้านสาธารณูปโภคไฟฟ้าทั่วโลกตั้งเป้าหมายการทำเน็ตซีโร่ภายในปี 2035 ถึง 2050 เพื่อเร่งกิจกรรมด้านภูมิอากาศ ไฟฟ้าสาธารณูปโภคนั้นมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 40 เปอร์เซ็นต์

Dave Chen ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของ Equilibrium Capital ซึ่งบริษัทลงทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในพอร์ตแลนด์ กล่าวว่า นอกจากการรัดเข็มขัดทางคาร์บอนและการซื้อการชดเชยคาร์บอนเพื่อลบล้างการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว นักลงทุนกำลังดูว่าบริษัทใดที่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของตนเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

“นี่คือสิ่งที่ยากที่สุด การเปลี่ยนวิธีการทำงานของคุณ” Chen กล่าว บริษัทของเราได้ลงทุนในด้านกรีนเฮาส์เพื่อการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มโคนม “นักลงทุนกำลังดูว่าบริษัทได้ปรับเปลี่ยนการผลิต ห่วงโซ่อุปทาน และการจัดซื้อสินทรัพย์ต่างๆ อย่างไรในการลดรอยเท้าคาร์บอนของพวกเขา” เขากล่าวแก่ Eco-Business

“เราไม่สามารถทำเน็ตซีโร่ภายในปี 2050 โดยการลดการปล่อยคาร์บอนเท่านั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจริง บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องออกแบบวิธีการที่พวกเขาดำเนินงานใหม่ในเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” เขากล่าว

Jeffrey Ubben นักทำกิจกรรมเฮดจ์ฟันด์ของ Inclusive Capital กำลังมองหาบริษัทที่มีความจริงจังด้านคาร์บอนเพื่อสนับสนุน โดยการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการปกครอง (ESG) กับองค์กรเช่น Exxon Mobil “หากตลาดระบุว่าคุณกำลังอยู่ขาลง [และไม่ลดคาร์บอน] คุณก็ไม่ต่างกับคนที่รอความตาย” Chen กล่าว

แต่การลงทุนกับบริษัทเน็ตซีโร่นั้น นักลงทุนจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดีขึ้น มีความสอดคล้อง และเปรียบเทียบได้ Bullock กล่าว นี่คือสาเหตุที่มีการมุ่งไปสู่ TCFD เนื่องจากมันเป็นแนวทางที่ชัดเจนในการรายงานด้านความเสี่ยงเชิงภูมิอากาศสำหรับนักลงทุนในบริษัทการเงิน เขากล่าว

TCFD ซึ่งประกาศในเดือนตุลาคมว่าได้อัพเดตมาตรฐานการรายงานของตนแล้ว ได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ปรับปรุงการรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางการเงินของพวกเขาอย่างไร TCFD กล่าวว่าทุกบริษัทจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น เนื่องจากความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องจากภูมิอากาศจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงบดุลบริษัทในอีกไม่นานนี้ 

ผู้สนับสนุน TCFD ได้เติบโตขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว และ TCFD ได้กล่าวว่าหน่วยงานภาครัฐของฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรต่างกล่าวว่าจะบังคับให้องค์ กรเปิดเผยข้อมูลด้านภูมิอากาศ 

แม้ว่าจะมีบริษัทจำนวนมากที่เข้าร่วมกับ TCFD ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แต่ก็ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ “ยังคงมีปัญหาในการระบุผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในเชิงปริมาณ และในการหาข้อมูลนั้น พวกเขาจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างสมบูรณ์” Michael R. Bloomberg ประธานฝ่ายบริหารของ TCFD กล่าว 

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ไม่รายงานความเสี่ยงด้านภูมิอากาศของตน เช่นบริษัทส่วนใหญ่ในเอเชีย จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบได้ Salvatico กล่าว “บริษัทใดก็ตามที่ไม่ส่งรายงานดังกล่าวจะยังคงถูกประเมิน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพวกเขาจะถูกจัดทำเป็นโมเดลและนำไปวิเคราะห์” เขากล่าวและระบุว่า S&P ได้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทมหาชน 15,000 บริษัทและบริษัทเอกชน 5,000 บริษัท

ความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึงอย่างรวดเร็ว เขากล่าวเพิ่มเติม เมื่อกล่าวถึงประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก Salvatico ระบุว่า “มีการรายงานน้อยมาก” เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว

“แต่เมื่อไม่นานมานี้เราได้เห็นแนวโน้มว่ามีความต้องการสูงขึ้นสำหรับการรายงานองค์กรจาก S&P Global Ratings เกี่ยวกับรายงานการประเมินความยั่งยืนขององค์กรและความเสี่ยงด้านภูมิอากาศที่สอดคล้องกับ TCFD จากภาพรวมทั่วโลก เราได้เห็นการลงทุนปริมาณสูงในด้าน ESG และความต้องการเพิ่มขึ้นสำหรับการประเมิน S&P Global Ratings จากความเห็นของบุคคลที่สองในด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน” เขากล่าว

ซึ่งอาจจะเป็นความจริงสำหรับความมุ่งมั่นสู่เน็ตซีโร่เช่นกัน คาดว่าจะมีการประกาศอีกไม่น้อยเลยในการสัมนา COP26 ซึ่งจะเริ่มต้นสิ้นเดือนตุลาคมนี้ในกลาสโกว์ สกอตแลนด์ “เน็ตซีโร่ไม่ใช่แนวคิดที่ผู้คนกล่าวถึงเลยเมื่อสองปีที่แล้ว” เราคิดถูกแล้วตั้งแต่ตอนที่ประเด็นนี้เริ่มต้น แนวโน้มกำลังเติบโตขึ้น” Salvatico กล่าว

Did you find this article useful? Join the EB Circle!

Your support helps keep our journalism independent and our content free for everyone to read. Join our community here.

Most popular

Featured Events

Publish your event
leaf background pattern

Transforming Innovation for Sustainability Join the Ecosystem →